ครีมกันแดด จำเป็นอย่างไร ?
(ภาพจาก: http://www.ereportaz.gr/ta-vrefi-ke-ta-pedia-chriazonte-exe/ )
ผลิตภัณฑ์กันแดด คืออะไร?
ผลิตภัณฑ์กันแดด คือผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารที่สามารถป้องกันแดดได้ ใช้ทาก่อนสัมผัสแดดเพื่อป้องกันผิวไม่ให้ได้รับอันตรายจากแสงแดด ถ้าสัมผัสกับแสงแดดอาจทำให้ผิวมีสีเข้มขึ้น แต่ถ้าสัมผัสกับแสงแดดนานเกินไปอาจทำให้ผิวได้รับความเสียหายได้ เช่น เกิดอาการผิวไหม้ บวม แดง ลอก เป็นต้น นอกจากนี้แสงแดดยังสามารถทำให้ผิวเกิดริ้วรอย หยาบกร้านและแก่กว่าวัยได้ ในผู้หญิงจึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ปริมาณการใช้ครีมกันแดดในประเทศไทยอยู่ที่ 19% ของประชากรทั้งหมด เมื่อเทียบกับปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ผิวกายของผู้บริโภคไทยอยู่ที่ 78%
ผลของรังสีต่างๆต่อผิวหนัง
ผิวหนัง | UVA | UVB | UVC |
อาการแดดเผา | น้อยมาก | มากที่สุด | – |
อาการบวมแดง | น้อยมาก | มากที่สุด | มากที่สุด |
ผิวคล้ำขึ้น | มากที่สุด | ปานกลาง | – |
ความแก่ | มาก | มากที่สุด | – |
แพ้แสงแดด | มาก | – | – |
มะเร็งผิวหนัง | ปานกลาง | มากที่สุด | มากที่สุด |
กลไกในการออกฤทธิ์ของสารกันแดด
สารกันแดดสามารถดูดกลืนคลื่นในช่วง 280-320 nm ซึ่งเป็นช่วงคลื่นที่ทำให้เกิดอาการแดดเผาได้ โดยกลไกการออกฤทธิ์แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ กลไกทางเคมี และกลไกทางกายภาพ
- กลไกทางกายภาพ (Physical sunscreen) ออกฤทธิ์โดยการเคลือบบนชั้นผิวหนัง กระจายและสะท้อนกลับของแสง สารในกลุ่มนี้ได้แก่ Kaolin, Magnesium Silicate, Magnesium Oxide, Tatanium Dioxide, Zinc Oxide เป็นต้น
- กลไกทางเคมี (Chemical sunscreen) ออกฤทธิ์โดยเคลือบบนชั้นผิวทำหน้าที่ดูดซับรังสีที่มีพลังงานไว้ชั่วคราว แล้วปล่อยเป็นรังสีที่มีพลังงานต่ำ ไม่เกิดอันตรายต่อผิวหนัง สารในกลุ่มนี้เช่น Salicylate, Camphor และ Homomethyl N anthranilates เป็นต้น
สารที่ออกฤทธิ์ในการกันแดดแบบกายภาพจะสามารถป้องกันช่วงรังสีที่กว้างตั้งแต่ 290-700 nm จึงนิยมนำมาผสมในตำรับครีมกันแดดมาก และมีความปลอดภัยสูง แต่สารกันแดดที่ออกฤทธิ์ทางเคมีจะป้องกันรังสีในช่วง 260-400 nm ฉะนั้นจึงไม่ครอบคลุมช่วงทั้งหมด จึงมีการนำเอาสารกันแดดทั้ง 2 แบบมาผสมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกันแดด
ค่า SPF และ PA+++ สำคัญไฉน ?
ค่า PA (Protection Grade of UVA )หมายถึง ค่าการปกป้องจากรังสี UVA โดย + มีค่าปกป้องน้อยที่สุด และ +++ มีค่าการปกป้องมากที่สุด
ค่า SPF(Sun Protection Factor) หมายถึง ค่าการปกป้องจากรังสี UVB โดยแสดงเป็นจำนวนเท่าของเวลาปกติที่ทำให้ผิวหนังแดง เช่น ปกติหากไม่ทาครีมกันแดด 5 นาทีผิวจะแดง หากเราใช้ครีมกันแดดที่มี SPF 30 จะสามารถป้องกันความแดงจากแดดได้คือ 5×30 = 150 นาที ผิวจึงจะแดง เป็นต้น นอกจากนี้ค่า SPFที่ต่างกันยังบอกถึงความสามารถในการป้องกันรังสี UVB โดยมีการทดลองพบว่า
- SPF 100 สามารถป้องกันรังUVBสีได้ 99%
- SPF 50 สามารถป้องกันรังสีUVBได้ 98%
- SPF 30 สามารถป้องกันรังสีUVBได้ 97.5%
(ภาพจาก: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:UV_and_Vis_Sunscreen.jpg)
การเลือกครีมกันแดดที่เหมาะสมควรเลือกค่า SPF ที่เหมาะสม เมื่อค่า SPF ที่สูงขึ้นจะทำให้เนื้อครีมที่ได้นั้นมีความหนืด เหนียวมากเกินไปไม่น่าใช้ ดังนั้นค่าปกติที่แนะนำในการใช้คือ SPF ไม่เกิน 50 และค่า PA+++ ทาวันละ 2-3 ครั้ง ก็เพียงพอต่อการป้องกันแสงแดด เพื่อรักษาผิวพรรณให้สวยงามได้ไปอีกนานเลยละครับ
เอกสารอ้างอิง
- อรัญญา มโนสร้อย. (2556). เวชสำอาง(Cismeceuticals). (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพมหานคร: โอ เอา พริ้นติ้งเฮ้าส์. หน้า 90-100
- https://www.cosmeticsandtoiletries.com/testing/spf/premium-Testing-SPF-15100-Indoor-vs-Outdoor-225843851.html